วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนรายงานทางวิชาการที่ดี


การเขียนรายงานทางวิชาการที่ดี
การเขียนรายงานทางวิชาการ  เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน ในระดับอุดมศึกษา  ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  สามารถแสวงหาความรู้   ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้    รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้      นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร   รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี    มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน   ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น   เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน 
1. ลักษณะของรายงานที่ดี
รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้ 
1. รูปเล่ม  ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วน  การพิมพ์ประณีตสวยงาม  การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกัน    ใช้ตัวอักษรรูปแบบ (Font) เดียวกันทั้งเล่ม  จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์ และอ่านง่าย
2. เนื้อหา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน    แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง  เป็นปัจจุบันทันสมัย   ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์  แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน   นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์  นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทรรศนะใหม่ ๆ    หรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่     ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวน    แสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง  สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ
3. สำนวนภาษา  เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป   สละสลวย  ชัดเจน  มีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ถูกต้อง  ลำดับความได้ต่อเนื่อง  และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4. การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน   มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน  เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล     เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้   ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น
2. ข้อควรคำนึงในการทำรายงาน
วัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนที่กำหนดให้นักศึกษาทำรายงาน  ก็เพื่อให้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง   ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามความรู้ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ  ช่วยให้จดจำเรื่องราวที่ตนศึกษาได้อย่างแม่นยำและยาวนาน   เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว  อาจารย์ผู้สอนจึงมักจะพิจารณาประเมินคุณค่าของรายงานดังนี้
1.    ต้องไม่ใช่ผลงานที่คัดลอกของผู้อื่น (สำคัญมาก)  
2.    ต้องเป็นผลงานที่แสดงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน  (คือมีเนื้อหาสาระที่สามารถตอบคำถาม  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ได้)  และมีเนื้อหาสาระที่แสดงเหตุผล แสดงความคิดหรือทรรศนะของผู้เขียน ที่เป็นผลจากการได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้น   (คือมีเนื้อหาที่ตอบคำถาม  ทำไม- เพราะเหตุใด   ทำอย่างไร) 
3.    ต้องเป็นผลงานที่จัดรูปเล่มอย่างประณีต  อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย    รายงานที่ดีจึงต้องจัดรูปเล่มให้อ่านง่าย  เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ  กำหนดหัวข้อเรื่องไม่ซ้ำซ้อนวกวน (ต้องวางโครงเรื่องให้ดี)
4.    ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ดี  คือมีการอ้างอิงและทำบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามแบบแผน  แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน
3. ขั้นตอนการทำรายงาน
การทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ  ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน  ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ    หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว    ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป   เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้   ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว ๆ  ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง 
2. สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต  ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้ เช่นห้องสมุดควรใช้  บัตรรายการ  บัตรดัชนีวารสาร  และ โอแพค (OPAC)  เป็นต้น  การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google, Yahoo  เป็นต้น  นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน  จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน     เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ  เป็นหมวดหมู่    เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย  เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3. กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง  โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม  5W1H ได้ครบถ้วน  กล่าวคือ เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้   เช่น     ใครเกี่ยวข้อง (Who)  เป็นเรื่องอะไร (What)  เกิดขึ้นเมื่อไร (When)  ที่ไหน (Where)   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด (Why)   เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีวิธีทำอย่างไร (How) 
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด (Mind map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง   ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา (Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree diagram)   จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น    การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น ๆ
4. รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง 
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว  จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ     การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต  เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5. อ่านตีความ สังเคราะห์ข้อมูล และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง  เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้   ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก  เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป    หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ (ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก  (กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6. เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว   (การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ   สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)
4. ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือ 1) ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก  ปกใน  คำนำ สารบัญ  2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย บทนำ  เนื้อเรื่อง และบทสรุป  3) ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม  และ  4) ภาคผนวก  ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1.     ปกนอกและปกใน  ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ  ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ   ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม   ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก    ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย  ชื่อเรื่องของรายงาน  ชื่อผู้เขียน  รหัสประจำตัว  ชื่อวิชา   ชื่อสถานศึกษา  และช่วงเวลาที่ทำรายงาน  ดังตัวอย่าง
2.     คำนำ   กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ความเป็นมา  ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม  อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ  สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน  ดังตัวอย่าง
3.     สารบัญ   ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี) และเลขหน้า     ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน   การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน  ดังตัวอย่าง

4.     เนื้อเรื่อง   เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ  ส่วนนำเรื่อง  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนสรุป  
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ  ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป    บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ  บทบาท  ปัญหา  ผลกระทบ  วัตถุประสงค์  ขอบเขตเนื้อหา  หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น
5.     การอ้างอิง   การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง   เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล  เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล   การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง  ปีพิมพ์  และเลขหน้า   หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ  นาม- ปี  ซึ่งมีวิธีการดังนี้
5.1    ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง  เช่น 
สารสนเทศ หมายถึง ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ที่ผ่านกระบวนการ ประมวลผล มีการถ่ายทอด และการบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ รายงาน โสตทัศนวัสดุ เทปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำพูด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารได้ทราบ   (ประภาวดี  สืบสนธิ์, 2543, หน้า 6)
5.2     ระบุไว้ก่อนข้อความที่อ้าง  เช่น
ชุติมา  สัจจานันท์ (2530, หน้า 17) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อสนเทศ สารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และวัสดุย่อส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม
หลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการดังนี้  (สำนักงาน ก.พ., 2550,  หน้า 15)
1.  หลักนิติธรรม
2. หลักคุณธรรม
3. หลักความโปร่งใส
6.     บรรณานุกรม  หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง   โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่  ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์  ชื่อบทความ  ชื่อหนังสือ  ครั้งที่พิมพ์  และสถานที่พิมพ์  เป็นต้น 
                   การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ  แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ แบบ MLA (Modern Language Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์  และแบบ  APA (American Psychological Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์     ในที่นี้จะแนะนำการเขียนบรรณานุกรมแบบ  APA   เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นหลักในการเขียนบรรณานุกรมประกอบการทำรายงานทางวิชาการ
                   การเขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบ APA  มีหลักเกณฑ์กำหนดแยกตามชนิดของสื่อแต่ละประเภทดังนี้
หนังสือ
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อหนังสือ  (ครั้งที่พิมพ์).  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์
                                อุทัย  หิรัญโต. (2531). หลักการบริหารบุคคล. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
                                 Baxter, C. (1997). Race equality in health care and education.
                                              Philadelphia : Ballière Tindall.
วารสาร  นิตยสาร            
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร, ปีที่(ฉบับที่), เลขหน้า.                                           
                                   สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2537).  ความรู้ทั่วไป
                                                เกี่ยวกับเห็ดพิษ.  เกษตรก้าวหน้า, 9(2), 45-47
                                   Klimoski, R., & Palmer, S. (1993). The ADA and the hiring process in
                                                organizations. Consulting Psychology Journal: Practice and
                                                Research, 45(2), 10-36.
หนังสือพิมพ์    
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์, หน้า
                                   สุนทร  ไชยชนะ.  (2551, กุมภาพันธ์ 25).  หนองหานสกลนครวันนี้.  มติช, หน้า 10.
                                   Brody, J. E. (1995, February 21). Health factor in vegetables still elusive.  
                                                New York Times, p. C1.
วิทยานิพนธ์
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง. (ปี).  ชื่อวิทยานิพนธ์.  วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญา สาขาวิชา, สถาบัน.
                                   จิราภรร์ ปุญญวิจิตร. (2547). การศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ
                                                ในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระบบนานาชาติระดับชั้นอนุบาลใน
                                                จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามความต้องการของผู้ปกครอง.  วิทยานิพนธ์
                                                ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏ
                                                พระนครศรีอยุธยา.
อินเทอร์เน็ต
                   รูปแบบ:   ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ค้นเมื่อ วัน เดือน ปี  จาก URL
                                   ธนู  บุญญานุวัตร. (2545).  การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต.  ค้นเมื่อ 
                                            6 ธันวาคม 2551 จาก http://www.aru.ac.th/research.html.
                                   American Psychological Association. (1999, June 1). Electronic preference
                                                formats recommended by the American Psychological Association.
                                                Retrieved July 18, 1999, from http://www.apa.org/journals/ webref.html
5. การพิมพ์รายงาน
รูปเล่มรายงานที่สวยงามประณีต ชวนอ่านและอ่านง่ายนั้น  จะต้องคำนึงถึงการจัดวางหน้า ระยะขอบพิมพ์  การย่อหน้า  การใช้ตัวอักษร  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติดังนี้  
1. พิมพ์รายงานด้วยเครื่องเลเซอร์  ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ให้ใช้ตัวอักษร Angsana UPC  ขนาด  16 ปอยท์  ใช้กระดาษมาตรฐานขนาด A4 ไม่มีกรอบไม่มีเส้น หมึกพิมพ์สีดํา
2. จัดระยะขอบกระดาษให้ขอบกระดาษบนและซ้ายห่าง 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษล่างและขวาห่าง 1 นิ้ว    การจัดขอบข้อความด้านขวาไม่จำเป็นต้องจัดตรงทุกบรรทัด 
3. การย่อหน้า ให้ย่อหน้าที่ 1 เว้นระยะจากขอบพิมพ์  7 ระยะตัวอักษรพิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 8   ย่อหน้าต่อ ๆ ไป ให้เว้นเข้าไปอีกย่อหน้าละ 3  ตัวอักษร  คือย่อหน้าที่ 2  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 11  และย่อหน้าที่ 3  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 14  เป็นต้น 
4. ชื่อบท ให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษ (ได้แก่  คํานํา  สารบัญ  บทที่ 1..   บรรณานุกรม)   ชื่อบทใช้อักษร Angsana UPC  ขนาด  18 ปอยท์    เว้นบรรทัดระหว่างชื่อบทกับข้อความที่เป็นเนื้อหา 1 บรรทัด (คือพิมพ์ชื่อบทแล้วเคาะEnter 2 ครั้ง)
5. หัวข้อใหญ่ ให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านขวา และทำตัวหนา-ดำ    ส่วนหัวข้อรองพิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 1  (ตรงอักษรตัวที่ 8)  หากมีหัวข้อย่อย ๆ ภายใต้หัวข้อรองให้พิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 2, 3…. ตามลำดับ
6. บรรณานุกรมให้จัดพิมพ์เรียงตามลำดับตัวอักษร   เรียงบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ   บรรณานุกรมแต่ละรายการให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านซ้าย (ไม่ย่อหน้า)  กรณีพิมพ์ไม่จบในบรรทัดเดียว  ให้พิมพ์ต่อตรงย่อหน้าที่ 1  หรืออักษรตัวที่ 8   

{ แหล่งอ้างอิง
         web.aru.ac.th/thanoo/images/stories/information/report.doc

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส

                        

      
                 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศโปรตุเกส เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1511 เมื่อ อาโฟโซ ดาลบูเคอร์ค (Alfoso d’Alboquerque) อุปราชโปรตุเกสประจำภาคตะวันออก ได้ส่งทูตคนแรก คือ ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandez) เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอเจริญไมตรีกับพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 (ค.ศ. 1491-1529) ซึ่งขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มั่งคั่ง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารและของป่าหายาก ประกอบกับกรุงศรีอยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน สะดวกต่อการติดต่อค้าขายและขนส่งสินค้า กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ที่สำคัญในเอเชีย หลังจากที่โปรตุเกสได้ขยายอำนาจมาถึงเมืองมะละกา ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยามาก่อน โปรตุเกสเกรงจะเกิดปัญหาบาดหมางกับไทยในภายหลัง อีกทั้งต้องการติดต่อค้าขายกับไทยด้วย จึงได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี นับเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินทางเข้ามายัง กรุงศรีอยุธยา ก่อนหน้าชาวยุโรปชาติอื่น ๆ เป็นเวลากว่า 100 ปี
             การเจริญสันถวไมตรีทางพระราชสาสน์อย่างเป็นทางการในอีกห้าปีต่อมา ในปีค.ศ. 1516 เมื่อดาลบูเคอร์คได้จัดส่งทูตที่มีอำนาจเต็มมาจากพระเจ้ามานูแอล ที่ 1 (Rei D. Manuel I) แห่งโปรตุเกส คือ ดูอาร์เต โกเอโย่ (Duarte Coelho) เพื่อมาทำสัญญาพันธไมตรีกับอยุธยาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางอยุธยาเองก็ให้การตอบรับอย่างดี โดยมีนัยสำคัญแห่งสนธิสัญญาเป็นไปเพื่อการค้าและการเผยแพร่ศาสนา กล่าวคือ ทางการค้า อยุธยาจะให้ความสะดวกและสิทธิพิเศษต่างๆ ต่อพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่มาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่าง ๆ และยอมให้ชาวเมืองที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาไปทำมาค้าขายที่เมืองมะละกาได้ ส่วนโปรตุเกสก็จะช่วยหาสินค้าที่ไทยต้องการ เช่น อาวุธปืนและกระสุนดินดำให้อยุธยา และให้ปฏิบัติกิจทางศาสนาได้อย่างเสรี
             สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตก เมื่อโกเอโย่จะเดินทางกลับ ทางอยุธยาก็จัดส่งทูตตามไปเพื่อถวายพระราชสาสน์ต่อพระเจ้ามานูแอล ที่ 1 อีกด้วย
             จากความสัมพันธ์ทางด้านการค้าขายได้พัฒนาขึ้น เมื่อสินค้าที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นที่ต้องการของอยุธยาในสมัยนั้น คือ อาวุธปืนและกระสุนดินปืน เนื่องจากอยุธยากำลังทำสงครามกับพม่าที่เมืองเชียงกราน ในปี ค.ศ. 1538 ได้มาทหารอาสาชาวโปรตุเกสจำนวน 120 คน เข้ามารับราชการสงครามในกองทัพไทย และได้ให้คำแนะนำทางการทหารต่างๆ รวมถึงการใช้ปืนแบบยุโรป ทำให้กรุงศรีอยุธยามีชัยชนะในศึกครั้งนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ทหารอาสาชาวต่างชาติในกองทัพอยุธยาที่เรียกว่ากองทหารแม่นปืน ในเวลาต่อมา และจากความดีความชอบในสงครามเมืองเชียงกราน สมเด็จพระชัยราชาธิราช ค.ศ.1534 - 1546 จึงทรงตอบแทนโดยอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอยุธยา พร้อมทั้งพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอกกำแพงเมืองใช้ชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์ในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ขึ้นเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรสยาม (ปัจจุบันหมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) นอกจากที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้มีชาวโปรตุเกสเข้าไปพำนักอยู่ที่หัวเมืองต่างๆ ของไทย ที่ปัตตานี นครศรีธรรมราช ทวาย และตะนาวศรี อีกด้วย
            ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างไทยและโปรตุเกสในราชอาณาจักรอยุธยา เจริญรุ่งเรืองเป็นเวลากว่าศตวรรษโดยไม่มีชาติตะวันตกใดมาแข่งขัน เนื่องจากสเปนได้เดินเรือไปทางตะวันตก ส่วนอังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศสยังไม่เจริญรุ่งเรืองพอที่จะเดินเรือมาค้าขายไกลๆ ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ นอกจากพวกพ่อค้าแล้ว ยังมีนักผจญภัยที่ได้เข้ามารับราชการในกองทัพไทย ซึ่งทหารชาวโปรตุเกสเหล่านี้เป็นผู้นำวิชาการทางการทหารแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ให้แก่คนไทย เช่น วิชาการใช้และทำปืนไฟ การสร้างป้อมต่อต้านปืนไฟ การตัดถนนโดยการใช้เข็มทิศส่องกล้อง เป็นต้น รวมถึงมีทหารอาสาเข้ารับราชการสงครามในกองทัพอยุธยาหลายครั้งจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายนาม ขุนนางกรมฝรั่งแม่นปืนในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมาเมื่อบทบาททางทะเลของโปรตุเกสในดินแดนต่างๆ ลดน้อยลง เนื่องจากการขยายอำนาจของฮอลันดา สเปน อังกฤษ และฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1597 ฮอลันดาเริ่มมีอำนาจมากขึ้น เมื่อโปรตุเกสถูกรวมเข้ากับสเปนเป็นเวลากว่า 60 ปี
           หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี ค.ศ.1767 แล้วบรรดาชาวยุโรปอื่น ๆ ได้อพยพออกนอกราชอาณาจักรไทย และมีบางส่วนที่เข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต่อสู้กับพม่า หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามชุมชนต่าง ๆ และรวบรวมผู้คนสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว คุณพ่อกอรร์ (Corre) บาทหลวงฝรั่งเศสผู้นำคริสตชนในเวลานั้น ซึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก คุณพ่อได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศเขมร เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยจึงได้เดินทางกลับมาในประเทศไทยพร้อมกับคนไทยอีก 4 คน และรวบรวมคริสตังที่บางกอกซึ่งมีจำนวนถึง 400 คน ให้มาอยู่รวมกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระเมตตาต่อคริสตชนโดยเฉพาะต่อชาวโปรตุเกส พระองค์ได้ทรงให้การต้อนรับอย่างดี และได้พระราชทานที่ดินที่กุฎีจีนสำหรับสร้างโบสถ์ในปี ค.ศ. 1769 คุณพ่อกอรร์ได้ตั้งชื่อเป็นภาษาโปรตุเกสว่าวัดซางตาครู้สนับเป็นแผ่นดินผืนที่สองที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้แก่คริสตังชาวโปรตุเกส หลังจากนั้นปรากฏว่าจำนวนคนกลับใจและรับศีลล้างบาปที่วัดซางตาครู้ส ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน

  15 ปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 พระราชทานนามของพระนครหลวงว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมารอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์มีความหมายโดยรวมว่า "เมืองเเห่งเทวดา"
ชาวสยามยุคนั้นไม่สนใจการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกนัก เพราะไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ ชาวอังกฤษไม่พอใจที่สยามมีการหักภาษี จึงส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ดทำให้มาขอทำสัญญาพยายามให้ไทยยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า แต่ทางเราปฏิเสธกลับไป จนกระทั่งโปรตุเกสได้ส่งทูตชื่อ อันโตนิโอ เดอ วีเสนท์ (Antonio de Veesent) คนทั่วไป เรียกว่า องตนวีเสนเป็นอัญเชิญพระราชสาสน์กษัตริย์โปรตุเกสจากกรุงลิสบอนมายังสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้การต้อนรับและทรงให้อันโตนิโอเข้าเฝ้า ทางการสยามได้มีพระราชสาสน์ตอบมอบให้อันโตนีโอเป็นผู้อัญเชิญกลับไป
  ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสรุ่งเรืองอย่างมาก ได้มีการส่งเรือกำปั่นชื่อ มาลาพระนคร โดยมีหลวงสุรสาครเป็นนายเรืองคุมเรือออกไปค้าขายกับโปรตุเกสที่เมืองมาเก๊า และมีการเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งชาวสยามก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทำให้การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์รานำเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาสน์ของกษัตริย์โปรตุเกสมาถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 เพื่อขอเจริญสัมพันธไมตรี ไทยก็ให้การต้อนรับอย่างดี เพราะเห็นว่าโปรตุเกสช่วยอำนวยความสะดวกแก่เรือกำปั่นหลวงที่เดินทางไปค้าขายที่มาเก๊าในครั้งก่อน รวมทั้งไทยยังต้องการซื้อปืนคาบศิลาจากโปรตุเกสเอาไว้ใช้ป้องกันพระนครด้วยจึงยินดีที่จะเป็นมิตรกับโปรตุเกส ทางโปรตุเกสก็ได้จัดซื้อให้ถึง 400 กระบอก
   ปีพุทธศักราช 2363 ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกส ณ เมืองกัว ในอินเดีย ได้ร่างสัญญาทางพระราชไมตรีในนามของกษัตริย์โปรตุเกส มอบให้การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์ราเข้ามาถวาย โดยใจความขอให้ การ์ลูส มานูเอล ดาซิลเวียรา เป็นกงสุลโปรตุเกสประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่ขอ พร้อมแต่งตั้งให้ซิลเวย์รามีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยพาณิชหลังจากที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 2ได้มีพระราชานุญาติให้ตั้งสถานกงสุลโปรตุเกสขึ้นในไทย มีการปักธงโปรตุเกสที่กงสุล ต่อมาภายหลังสถานกงสุลนี้ได้รับฐานะเป็นสถานทูต นับเป็นสถานทูตต่างชาติแห่งแรกในไทย
ตลอดรัชกาลที่ 3 ก็ยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตและการติดต่อค้าขาย ซึ่งก็มีปริมาณการค้าไม่มากนักเนื่องจากค้าขายขาดทุนที่ทำการค้าสู้อังกฤษไม่ได้ แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีเรื่อยมา
  รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ มีพระราชประสงค์จะทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส เพื่อสถาปนาสัมพันธ์ไมตรีและการค้าที่ขาดตอนไป
  หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ. 1897 พระองค์เสด็จประพาสยุโรป และได้เสด็จฯ เยือนกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
  ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประพาส ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
             สายใยแห่งความสัมพันธภาพอันดีระหว่างประเทศไทยกับโปรตุเกส ที่ผ่าทางประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายศตวรรษ นอกจากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังคงหลงเหลืออยู่อย่างมากมายแล้วยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปรียบเสมือนหนึ่งตัวประสานให้สายใยนี้มั่นคงยืนนานสืบไป เช่น มีคำภาษาโปรตุเกสที่ใช้กันในภาษาไทยหลายคำ เช่น เลหลัง ขนมปัง คริสตัง เป็นต้น ซึ่งคำว่าคริสตังเป็นคำที่ใช้เรียกคริสตชนที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในเมืองไทยโดยเฉพาะ รวมไปถึงอาหารการกินของชาวโปรตุเกสหลายอย่างซึ่งได้ดัดแปลงให้มีรสชาติแบบไทย ๆ จนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นขนมประจำชาติของไทยไป เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด เป็นต้น แต่ก็มีขนมที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของขนมโปรตุเกสไว้ คือ ขนมฝรั่ง ซึ่งมีทำเฉพาะที่กุฎีจีน (วัดซางตาครู้ส) เท่านั้น ที่ยังคงสืบทอดกรรมวิธีแบบโบราณมาจนถึงทุกวันนี้
{ แหล่งอ้างอิง
         http://haab.catholic.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=1405:2013-04-27-03-59-31&catid=212:2013-06-26-07-20-57&Itemid=30