วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ทฤษฎีความทันสมัย และแนวคิดหลังสมัยใหม่

        
1. ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory)
               นับตั้งแต่มีการสร้างวาทกรรมที่เรียกว่า การพัฒนา” (Development) โดยกรอบการพัฒนาที่มหาอำนาจตะวันตกกำหนดขึ้นมาเป็น วาทกรรม คือ ความรู้ชุดหนึ่งที่กำหนดความหมายและลักษณะของการพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความเป็นไปของทิศทางการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม เพราะสถาบันการพัฒนาต่างๆ จะใช้กรอบความคิดที่ถูกกำหนดขึ้นมานี้เป็นฐานในการช่วยเหลือการพัฒนาในประเทศโลกที่สามให้เป็นทุนนิยม ซึ่งทฤษฎีการสร้างความทันสมัย(Modernization Theory) เป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งจะอธิบายการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด และได้กลายเป็นทฤษฎีกระแสหลักของการพัฒนาสังคมโลก
               ทฤษฎีความทันสมัย ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักสังคมวิทยายุคแรก ๆ คือ เอมิล เดิร์คไคม์ (E.Durkhiem) และ แม็ก เวเบอร์ (Max Weber) ซึ่งทั้งสองท่านก็ได้รับอิทธิพลจาก ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ในเรื่องการวิวัฒนาการของสังคม เดอร์คไคม์ สนใจการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ เขาได้เสนอว่ารูปแบบหลักของสังคมมี 2 รูปแบบ คือ สังคมแบบดั้งเดิม และสังคมสมัยใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมแบบสมัยใหม่นี้ เดอร์คไคม์มองว่า เป็น ความสัมพันธ์แบบอินทรีย์” (organic solidarity) ซึ่งอยู่ในกรอบแนวคิดวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน นั่นเอง
               ถ้าหากเราจะกล่าวโดยสรุป ทฤษฎีความทันสมัยได้ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้
               1) ทฤษฎีความทันสมัย ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของระบบคุณค่า ปทัสฐาน ความเชื่อ การกำหนดรูปแบบของสังคม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย
               2) ประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกมิได้รับการพิจารณาเพียงแค่คุณลักษณะเฉพาะของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างเช่นที่ ไอเซนตาร์ตท (Eisenstadt) กล่าวว่า โดยประวัติศาสตร์แล้ว การพัฒนาไปสู่ความทันสมัยคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของระบบสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17-19
               3) สังคมสมัยใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อแบบแผนพฤติกรรมในสังคมดั้งเดิมหลีกทางให้กับความทันสมัย (คือการเสื่อมของระเบียบแบบแผนของสังคมดั้งเดิม) ในสังคมตะวันตก ความกดดันหรือแรงบีบซึ่งนำไปสู่ความทันสมัยนั้นเกิดขึ้นภายในสังคมตะวันตกเอง แต่ในประเทศกำลังพัฒนาความกดดันหรือแรงบีบคั้นต่อสังคมแบบดั้งเดิมมาจากภายนอก
               4) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กระบวนการนำไปสู่ความทันสมัยในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการ แพร่กระจายการแพร่กระจายนี้อาจเป็นไปได้หลายรูปแบบ หลายกระบวนการ อย่างเช่นการเกิดขึ้นและแพร่หลายของสังคมเมือง ซึ่งมีรากฐานมาจากระบบครอบครัวเดี่ยว การขยายตัวของการศึกษาที่ทำให้คนอ่านออกเขียนได้ การพัฒนาของระบบสื่อสารมวลชนที่ช่วยให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสารและความคิดต่างๆ ได้กว้างขวาง ฯลฯ
               กล่าวโดยสรุป แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ชี้นำการพัฒนาของไทยทั้งการพัฒนาประเทศและการพัฒนาสาขาต่างๆ ตลอดช่วงกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีข้อโต้แย้งต่าง ๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดกระแสหลักอยู่ ประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งหลัก ๆ ต่อกลุ่มแนวคิดนี้มาจากความเชื่อที่ว่า วิวัฒนาการของสังคมแต่ละสังคมอาจจะเป็นไปได้หลายอย่าง และขั้นตอนการพัฒนาก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนที่เหมือนกัน กลุ่มที่โต้แย้งแนวคิดการพัฒนาสู่ความทันสมัย (โดยเฉพาะกลุ่มทฤษฎีพึ่งพา) ชี้ว่าที่แท้จริงความทันสมัยในทางเศรษฐกิจ มีความหมายเท่ากับกระบวนการเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม ในทางสังคม วัฒนธรรม Modernization มีความหมายเท่ากับ Westernization และที่สำคัญก็คือ ภาวะความทันสมัยอาจจะไม่ใช่สภาวะการพัฒนาที่สังคมพึงปรารถนา หรือมีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา (Modernization without Development) นั่นเอง

2. แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)
               แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) บางทีใช้คำว่าหลังสมัยใหม่ หรือแนวคิดหลังยุคนวนิยม เป็นแนวคิดทางการเมือง ปรัชญา วัฒนธรรม สังคม ดนตรี และอื่น ๆ ที่ก่อตัวขึ้นโดยมีมุมมองที่ต่างออกไปจากมุมมองทางความคิดแบบเดิม ๆ ของโลก ไม่ว่าจะแนวคิดลัทธิก่อนสมัยใหม่ หรือแนวคิดลัทธิสมัยใหม่ แนวคิดหลังสมัยใหม่ถูกจัดเข้ารวมกับทฤษฎีสายวิพากษ์
               - การกำเนิดของแนวคิดหลังสมัยใหม่
               ในช่วงปลายสมัยใหม่ของภูมิปัญญาตะวันตก มีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อความทันสมัย บางครั้งก็เรียกรวมๆว่าความคิดแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) กล่าวได้ว่าความคิดทันสมัยมีรากเหง้ามาจากทฤษฎีความคิดในยุคภูมิปัญญา (enlightenment) นักคิด นักปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่แข่งขันกันนำเสนอวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ที่สำคัญคือ แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลต้องสละประโยชน์ส่วนตัว หาทางสร้างระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตยขึ้นมารองรับ กับแนวคิดมาร์กซิสม์ ที่ต่างต้องการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การขูดรีดจากระบบทุนนิยม ความเชื่อในยุคสมัยใหม่กล่าวได้ว่ามีศรัทธาแรงกล้าต่อความก้าวหน้า (idea of progress) การที่สังคมมีหลักพื้นฐานอันประกอบด้วยสัจจะ ค่านิยมหลัก และความเชื่อมั่นเรื่องสังคมก้าวหน้ารวมเรียกกันว่าแนวคิดสถาปนานิยม (foundationism) ที่พยายามสถาปนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการสร้างค่านิยม, ความเชื่อต่างๆขึ้นมาครอบครองความคิดมนุษย์ในสังคม
               ในเวลาต่อมาจึงเกิดความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่เสนอให้ปฏิเสธความแน่นอน หนึ่งเดียว นักคิดหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธเรื่องสัจจะสมบูรณ์สูงสุดเป็นสากล โดยเห็นว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่เสนอว่าไม่มีศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว และสังคมดำรงอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย (diversity) ความคิดและแนวคิดใด ๆทั้งหมดเป็นเรื่องที่ได้รับการแสดงออกในรูปภาษาโดยที่ภาษาหรือการใช้ภาษาสื่อความหมายนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อน ดังนั้นปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงมิอาจอยู่เหนือ หรือตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นกันกับมิอาจให้ความรู้ความเข้าใจได้ด้วยการเป็นกลางไม่โอนเอียง ทฤษฎีการเมืองหรือสัจจะหรือความรู้ใดๆเป็นส่วนหนึ่งโดยนัยของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่นักวิชาการกำลังวิเคราะห์อยู่ นักคิดหลังสมัยใหม่จึงมีลักษณะตั้งข้อกังขาอย่างไม่ลดละต่อสภาพความเป็นจริงใดๆที่ดูหนักแน่นสมบูรณ์ และความเชื่อต่างๆที่พากันยึดถืออย่างไม่ลืมหูลืมตา
               สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้กล่าวกันว่าได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern era) คือความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นจริง (the real) กับสิ่งที่ปรากฏ (apparent) นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความคิดของฟรีดริช นิทซ์เชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) ซึ่งความคิดดังกล่าวเข้าไปมีอิทธิพลในวงการศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1920 กล่าวได้ว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) คือการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมที่ต่อต้านนิยาม, ความเชื่อ, ค่านิยม, จารีต, ประเพณีฯลฯ อาทิองค์รวม (totality), ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), ความเป็นสากล(universality), ความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) ฯลฯ ซึ่งนักคิดหลังสมัยใหม่จะตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่ต่างเป็นเพียง เรื่องเล่าหลัก (meta-narrative)” ที่เกิดขึ้นมาจากข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism)

{ แหล่งอ้างอิง
         http://chornorpor.blogspot.com/2011/09/blog-post_26.html
         http://th.wikipedia.org/wiki/แนวคิดหลังยุคนวนิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น