วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนรายงานทางวิชาการที่ดี


การเขียนรายงานทางวิชาการที่ดี
การเขียนรายงานทางวิชาการ  เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน ในระดับอุดมศึกษา  ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  สามารถแสวงหาความรู้   ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้    รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้      นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร   รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี    มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน   ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น   เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน 
1. ลักษณะของรายงานที่ดี
รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้ 
1. รูปเล่ม  ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วน  การพิมพ์ประณีตสวยงาม  การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกัน    ใช้ตัวอักษรรูปแบบ (Font) เดียวกันทั้งเล่ม  จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์ และอ่านง่าย
2. เนื้อหา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน    แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง  เป็นปัจจุบันทันสมัย   ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์  แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน   นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์  นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทรรศนะใหม่ ๆ    หรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่     ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวน    แสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง  สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ
3. สำนวนภาษา  เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป   สละสลวย  ชัดเจน  มีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ถูกต้อง  ลำดับความได้ต่อเนื่อง  และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4. การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน   มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน  เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล     เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้   ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น
2. ข้อควรคำนึงในการทำรายงาน
วัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนที่กำหนดให้นักศึกษาทำรายงาน  ก็เพื่อให้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง   ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามความรู้ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ  ช่วยให้จดจำเรื่องราวที่ตนศึกษาได้อย่างแม่นยำและยาวนาน   เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว  อาจารย์ผู้สอนจึงมักจะพิจารณาประเมินคุณค่าของรายงานดังนี้
1.    ต้องไม่ใช่ผลงานที่คัดลอกของผู้อื่น (สำคัญมาก)  
2.    ต้องเป็นผลงานที่แสดงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน  (คือมีเนื้อหาสาระที่สามารถตอบคำถาม  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ได้)  และมีเนื้อหาสาระที่แสดงเหตุผล แสดงความคิดหรือทรรศนะของผู้เขียน ที่เป็นผลจากการได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้น   (คือมีเนื้อหาที่ตอบคำถาม  ทำไม- เพราะเหตุใด   ทำอย่างไร) 
3.    ต้องเป็นผลงานที่จัดรูปเล่มอย่างประณีต  อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย    รายงานที่ดีจึงต้องจัดรูปเล่มให้อ่านง่าย  เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ  กำหนดหัวข้อเรื่องไม่ซ้ำซ้อนวกวน (ต้องวางโครงเรื่องให้ดี)
4.    ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ดี  คือมีการอ้างอิงและทำบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามแบบแผน  แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน
3. ขั้นตอนการทำรายงาน
การทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ  ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน  ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ    หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว    ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป   เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้   ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว ๆ  ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง 
2. สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต  ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้ เช่นห้องสมุดควรใช้  บัตรรายการ  บัตรดัชนีวารสาร  และ โอแพค (OPAC)  เป็นต้น  การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google, Yahoo  เป็นต้น  นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน  จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน     เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ  เป็นหมวดหมู่    เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย  เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3. กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง  โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม  5W1H ได้ครบถ้วน  กล่าวคือ เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้   เช่น     ใครเกี่ยวข้อง (Who)  เป็นเรื่องอะไร (What)  เกิดขึ้นเมื่อไร (When)  ที่ไหน (Where)   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด (Why)   เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีวิธีทำอย่างไร (How) 
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด (Mind map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง   ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา (Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree diagram)   จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น    การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น ๆ
4. รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง 
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว  จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ     การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต  เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5. อ่านตีความ สังเคราะห์ข้อมูล และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง  เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้   ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก  เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป    หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ (ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก  (กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6. เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว   (การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ   สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)
4. ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือ 1) ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก  ปกใน  คำนำ สารบัญ  2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย บทนำ  เนื้อเรื่อง และบทสรุป  3) ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม  และ  4) ภาคผนวก  ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1.     ปกนอกและปกใน  ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ  ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ   ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม   ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก    ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย  ชื่อเรื่องของรายงาน  ชื่อผู้เขียน  รหัสประจำตัว  ชื่อวิชา   ชื่อสถานศึกษา  และช่วงเวลาที่ทำรายงาน  ดังตัวอย่าง
2.     คำนำ   กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ความเป็นมา  ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม  อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ  สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน  ดังตัวอย่าง
3.     สารบัญ   ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี) และเลขหน้า     ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน   การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน  ดังตัวอย่าง

4.     เนื้อเรื่อง   เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ  ส่วนนำเรื่อง  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนสรุป  
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ  ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป    บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ  บทบาท  ปัญหา  ผลกระทบ  วัตถุประสงค์  ขอบเขตเนื้อหา  หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น
5.     การอ้างอิง   การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง   เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล  เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล   การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง  ปีพิมพ์  และเลขหน้า   หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ  นาม- ปี  ซึ่งมีวิธีการดังนี้
5.1    ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง  เช่น 
สารสนเทศ หมายถึง ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ที่ผ่านกระบวนการ ประมวลผล มีการถ่ายทอด และการบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ รายงาน โสตทัศนวัสดุ เทปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำพูด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารได้ทราบ   (ประภาวดี  สืบสนธิ์, 2543, หน้า 6)
5.2     ระบุไว้ก่อนข้อความที่อ้าง  เช่น
ชุติมา  สัจจานันท์ (2530, หน้า 17) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อสนเทศ สารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และวัสดุย่อส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม
หลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการดังนี้  (สำนักงาน ก.พ., 2550,  หน้า 15)
1.  หลักนิติธรรม
2. หลักคุณธรรม
3. หลักความโปร่งใส
6.     บรรณานุกรม  หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง   โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่  ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์  ชื่อบทความ  ชื่อหนังสือ  ครั้งที่พิมพ์  และสถานที่พิมพ์  เป็นต้น 
                   การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ  แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ แบบ MLA (Modern Language Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์  และแบบ  APA (American Psychological Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์     ในที่นี้จะแนะนำการเขียนบรรณานุกรมแบบ  APA   เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นหลักในการเขียนบรรณานุกรมประกอบการทำรายงานทางวิชาการ
                   การเขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบ APA  มีหลักเกณฑ์กำหนดแยกตามชนิดของสื่อแต่ละประเภทดังนี้
หนังสือ
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อหนังสือ  (ครั้งที่พิมพ์).  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์
                                อุทัย  หิรัญโต. (2531). หลักการบริหารบุคคล. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
                                 Baxter, C. (1997). Race equality in health care and education.
                                              Philadelphia : Ballière Tindall.
วารสาร  นิตยสาร            
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร, ปีที่(ฉบับที่), เลขหน้า.                                           
                                   สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2537).  ความรู้ทั่วไป
                                                เกี่ยวกับเห็ดพิษ.  เกษตรก้าวหน้า, 9(2), 45-47
                                   Klimoski, R., & Palmer, S. (1993). The ADA and the hiring process in
                                                organizations. Consulting Psychology Journal: Practice and
                                                Research, 45(2), 10-36.
หนังสือพิมพ์    
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์, หน้า
                                   สุนทร  ไชยชนะ.  (2551, กุมภาพันธ์ 25).  หนองหานสกลนครวันนี้.  มติช, หน้า 10.
                                   Brody, J. E. (1995, February 21). Health factor in vegetables still elusive.  
                                                New York Times, p. C1.
วิทยานิพนธ์
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง. (ปี).  ชื่อวิทยานิพนธ์.  วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญา สาขาวิชา, สถาบัน.
                                   จิราภรร์ ปุญญวิจิตร. (2547). การศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ
                                                ในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระบบนานาชาติระดับชั้นอนุบาลใน
                                                จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามความต้องการของผู้ปกครอง.  วิทยานิพนธ์
                                                ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏ
                                                พระนครศรีอยุธยา.
อินเทอร์เน็ต
                   รูปแบบ:   ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ค้นเมื่อ วัน เดือน ปี  จาก URL
                                   ธนู  บุญญานุวัตร. (2545).  การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต.  ค้นเมื่อ 
                                            6 ธันวาคม 2551 จาก http://www.aru.ac.th/research.html.
                                   American Psychological Association. (1999, June 1). Electronic preference
                                                formats recommended by the American Psychological Association.
                                                Retrieved July 18, 1999, from http://www.apa.org/journals/ webref.html
5. การพิมพ์รายงาน
รูปเล่มรายงานที่สวยงามประณีต ชวนอ่านและอ่านง่ายนั้น  จะต้องคำนึงถึงการจัดวางหน้า ระยะขอบพิมพ์  การย่อหน้า  การใช้ตัวอักษร  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติดังนี้  
1. พิมพ์รายงานด้วยเครื่องเลเซอร์  ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ให้ใช้ตัวอักษร Angsana UPC  ขนาด  16 ปอยท์  ใช้กระดาษมาตรฐานขนาด A4 ไม่มีกรอบไม่มีเส้น หมึกพิมพ์สีดํา
2. จัดระยะขอบกระดาษให้ขอบกระดาษบนและซ้ายห่าง 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษล่างและขวาห่าง 1 นิ้ว    การจัดขอบข้อความด้านขวาไม่จำเป็นต้องจัดตรงทุกบรรทัด 
3. การย่อหน้า ให้ย่อหน้าที่ 1 เว้นระยะจากขอบพิมพ์  7 ระยะตัวอักษรพิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 8   ย่อหน้าต่อ ๆ ไป ให้เว้นเข้าไปอีกย่อหน้าละ 3  ตัวอักษร  คือย่อหน้าที่ 2  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 11  และย่อหน้าที่ 3  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 14  เป็นต้น 
4. ชื่อบท ให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษ (ได้แก่  คํานํา  สารบัญ  บทที่ 1..   บรรณานุกรม)   ชื่อบทใช้อักษร Angsana UPC  ขนาด  18 ปอยท์    เว้นบรรทัดระหว่างชื่อบทกับข้อความที่เป็นเนื้อหา 1 บรรทัด (คือพิมพ์ชื่อบทแล้วเคาะEnter 2 ครั้ง)
5. หัวข้อใหญ่ ให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านขวา และทำตัวหนา-ดำ    ส่วนหัวข้อรองพิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 1  (ตรงอักษรตัวที่ 8)  หากมีหัวข้อย่อย ๆ ภายใต้หัวข้อรองให้พิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 2, 3…. ตามลำดับ
6. บรรณานุกรมให้จัดพิมพ์เรียงตามลำดับตัวอักษร   เรียงบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ   บรรณานุกรมแต่ละรายการให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านซ้าย (ไม่ย่อหน้า)  กรณีพิมพ์ไม่จบในบรรทัดเดียว  ให้พิมพ์ต่อตรงย่อหน้าที่ 1  หรืออักษรตัวที่ 8   

{ แหล่งอ้างอิง
         web.aru.ac.th/thanoo/images/stories/information/report.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น